วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ศึกษาดูงาน ณ ปักกิ่ง

พระราชวังกู้กง
พระราชวังต้องห้าม สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิง เป็นทั้งบ้านและชีวิตของจักรพรรดิในราชวงศ์หมิงและชิงรวมทั้งสิ้น 24 พระองค์ พระราชวังเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 500 ปี มีชื่อในภาษาจีนว่า ‘กู้กง’ หมายถึงพระราชวังเดิม มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘จื่อจิ้นเฉิง’ ซึ่งแปลว่า ‘พระราชวังต้องห้าม’ เหตุที่เรียกพระราชวังต้องห้าม เนื่องมาจากชาวจีนถือคติในการสร้างวังว่า จักรพรรดิเปรียบเสมือนบุตรแห่งสวรรค์ ดังนั้นวังของบุตรแห่งสวรรค์จึงต้องเป็น ‘ที่ต้องห้าม’ คนธรรมดาสามัญไม่สามารถล่วงล้ำเข้าไปได้ พระราชวังต้องห้ามสร้างโดยยึดหลักขนบธรรมเนียมของระบบศักดินา คือ อำนาจสูงสุดของประเทศอยู่ที่จักรพรรดิเพียงพระองค์เดียว ดังนั้นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและการตกแต่งจึงเน้นความใหญ่โตโอ่อ่า เพื่อให้เกิดความรู้สึกน่าเกรงขาม มากกว่าเน้นในด้านประโยชน์ใช้สอย ทั้งนี้ภายในประกอบด้วยห้องต่างๆรวมถึง 9,999 ห้อง

ตามหลักสถาปัตยกรรมสมัยโบราณ ได้กำหนดให้ด้านหน้าเป็นที่ว่าราชการ ด้านหลังเป็นที่อยู่อาศัย ตำหนักหน้า 3 หลังได้แก่ ตำหนักไท่เหอ ตำหนักจงเหอ และตำหนักเป่าเหอ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่ยิ่งใหญ่นั้น จึงตั้งตระหง่านเรียงกันตามลำดับ ณ กึ่งกลางอาณาบริเวณส่วนหน้าของพระราชวัง ถัดเข้าไปส่วนด้านหลังเป็นตำหนักที่ประทับของจักรพรรดิและมเหสีอีก 3 หลัง ได้แก่ ตำหนักเฉียนชิง ตำหนักเจียวไท่และตำหนักคุนหนิง ก่อนเข้าสู่ตำหนักในส่วนหน้าพระราชวัง จะต้องผ่านประตูสำคัญ ได้แก่ ประตูอู่ และประตูไท่เหอ ประตูอู่ เป็นประตูแรกสุดของพระราชวัง ได้ชื่อตามหลักจักรราศีของจีน เนื่องจากหันหน้าไปทางทิศใต้และยังตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระราชวังบริเวณด้านหน้าประตูอู่ใช้เป็นที่จัดพิธีเฉลิมฉลองและรับเชลยศึกจากสงคราม และยังใช้เป็นที่ลงโทษข้าราชบริพารที่กระทำผิดด้วย

ลานหน้าประตูแห่งนี้เคยมีข้าราชบริพารถูกโบยจนตายมาแล้ว เช่นกรณีหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในสมัยของจักรพรรดิเจิ้งเต๋อแห่งราชวงศ์หมิง ที่ทรงรับสั่งให้เฆี่ยนข้าราชบริพารจำนวน 130 คน ในความผิดฐานขัดขวางการเสด็จฯไปคัดเลือกสาวงามทางใต้ ในครั้งนั้นมีคนถูกตีจนเสียชีวิตถึง 11 คน ประตูไท่เหอ อยู่ตรงกับประตูอู่ เป็นประตูทางเข้าหลักของตำหนักหน้า ซึ่งเป็นประตูที่ใหญ่โตโอฬารที่สุดในพระราชวังต้องห้ามมีเอกลักษณ์คือ ที่หน้าประตูประดับด้วยสิงโตซึ่งทำจากทองสำริด 2 ตัว ด้านขวาเป็นสิงโตตัวผู้ด้านซ้ายเป็นสิงโตตัวเมีย ลานด้านหน้าซึ่งอยู่ระหว่างประตูอู่และประตูไท่เหอเป็นลานที่กว้างที่สุดในพระราชวัง มีพื้นที่ทั้งสิ้น 25,000 ตร.ม ในสมัยราชวงศ์หมิงใช้เป็นที่ว่าราชการแผ่นดินและที่เข้าเฝ้าองค์จักรพรรดิ ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิงตอนต้นจึงย้ายไปยังลานหน้าประตูเฉียนชิง

สามตำหนักหน้า : ไท่เหอ จงเหอ เป่าเหอ
ตำหนัก 3 หลังในเขตพระราชฐานชั้นนอก ซึ่งใช้เป็นที่ว่าราชการแผ่นดิน และที่ทรงงานของจักรพรรดิ มี ตำหนักไท่เหอ เป็นตำหนักเอกที่มีความพิเศษที่สุด ดังนั้นจึงมีรูปแบบการก่อสร้างและการตกแต่งที่เป็นสุดยอดของพระราชวังต้องห้ามรวมถึงตำแหน่งที่ตั้งซึ่งอยู่จุดกึ่งกลางของนครปักกิ่งพอดี ตำหนักที่สูงตระหง่านที่สุดในพระราชวังแห่งนี้โดดเด่นบนฐานหินอ่อนสีขาว 3 ชั้น ด้านหน้าตำหนักมีการจัดวางนาฬิกาแดดและเจียเลี่ยง ซึ่งเป็นเครื่องมือชั่งตวงวัดชนิดหนึ่งซึ่งจักรพรรดิเฉียนหลงทรงให้ทำเลียนแบบเจียเลี่ยงในสมัยถัง(ค.ศ.618-907) ตำหนักแห่งนี้ใช้เป็นที่จัดพิธีสำคัญของราชสำนักตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงและชิง เช่น พิธีครบรอบพระชันษา พิธีฉลองขึ้นปีใหม่ เป็นต้น
ถัดจากตำหนักไท่เหอ คือ ตำหนักจงเหอ เป็นตำหนักที่จักรพรรดิทรงประทับก่อนที่จะเสด็จไปประกอบพระราชพิธีต่างๆที่ตำหนักไท่เหอ และเป็นที่ทรงงานราชการ ตลอดจนเป็นที่ให้ขุนนางเข้าเฝ้าฯ ตำหนักเป่าเหอ ตำหนักเป่าเหอมีความสำคัญลำดับรองจากตำหนักไท่เหอ มีหลังคาซ้อนสองชั้นเช่นเดียวกับตำหนักไท่เหอ ภายในใช้เทคนิคในการก่อสร้างที่พยายามลดการใช้เสา ทำให้ภายในตำหนักมีความโปร่งโล่ง จักรพรรดิจะทรงเปลี่ยนเครื่องทรงที่ตำหนักหลังนี้ก่อนจะเสด็จในการพระราชพิธีต่างๆ นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่จัดงานเลี้ยงต้อนรับบรรดาขุนนางที่มีตำแหน่งสูงสมัยราชวงศ์ชิงตำหนักเป่าเหอยังใช้เป็นสนามสอบคัดเลือกขุนนางระดับสูงอีกด้วย สามตำหนักหลัง : เฉียนชิง เจียวไท่ คุนหนิง ส่วนที่แบ่งระหว่างเขตพระราชฐานชั้นนอกและพระราชฐานชั้นในก็คือ ลานกว้างที่อยู่บริเวณด้านหลังตำหนักเป่าเหอที่มาบรรจบกับประตูเฉียนชิง ประตูเฉียนชิง เป็นประตูหลักของพระราชฐานชั้นใน สร้างในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิง เป็นประตูที่มีหลังคาชั้นเดียวปูด้วยกระเบื้องสีเหลืองมันวาวเป็นประกาย ตั้งอยู่บนฐานหิน ที่ด้านหน้าซ้ายขวาของประตูเฉียนชิง มีโอ่งทองสำริด 10 ใบวางเรียงรายอยู่ โอ่งเหล่านี้ใช้สำหรับการประดับตกแต่ง ขณะเดียวกันก็เป็นที่เก็บน้ำไว้ใช้ดับไฟหากเกิดอัคคีภัย ที่ถูกเรียกว่า‘ทะเลของประตู’หรือแหล่ง (โอ่ง) น้ำสำคัญหน้าประตูนี้ ในอดีตทหารชั้นผู้น้อยในพระราชวังมีหน้าที่คอยตักน้ำใส่โอ่งให้เต็มทุกใบ เพื่อเตรียมพร้อมในกรณีที่เกิดไฟใหม้ ภายในพระราชวังต้องห้ามมีโอ่งทองสำริดและโอ่งเหล็กทั้งสิ้น 308 ใบ โอ่งแต่ละใบมีน้ำหนักกว่า 2,000 กิโลกรัม

เขตพระราชฐานชั้นในเป็นที่ประทับพักผ่อนของจักรพรรดิ พระมเหสี พระราชมารดา พระราชโอรส พระราชธิดาและนางสนม ประกอบด้วยตำหนักหลัก 3 หลัง คือ ตำหนักเฉียนชิง ตำหนักเจียวไท่ และตำหนักคุนหนิง นอกจากนี้ด้านข้างของตำหนักทั้ง 3 ยังเรียงรายด้วยตำหนักเล็กๆอีกด้านละ 6 หลัง เมื่อเทียบกับพระราชฐานชั้นนอกแล้ว พระราชฐานชั้นในมีลักษณะที่ค่อนข้างมิดชิดซึ่งเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของตำหนักสำหรับการพักผ่อน นอกจากนี้ยังมีอุทยานและศาลาซึ่งได้รับการออกแบบจัดวางอย่างประณีตบรรจง ตำหนักเฉียนชิงและตำหนักคุนหนิง ต่างตั้งชื่อตามตำหนักในพระราชวังที่เมืองหนันจิง อดีตราชธานีในสมัยราชวงศ์หมิง ในวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน‘เฉียน’ หมายถึง สวรรค์ และ‘คุน’ หมายถึง แผ่นดิน ดังนั้นจึงมีนัยว่า ตำหนักเฉียนชิงเป็นตำหนักบรรทมของจักรพรรดิ และตำหนักคุนหนิงเป็นตำหนักบรรทมของพระมเหสี ตำหนักเฉียนชิง เป็นที่ประทับของจักรพรรดิและปฏิบัติพระราชกรณีกิจส่วนพระองค์ มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง ต่อมาสมัยจักรพรรดิหย่งเจิ้งแห่งราชวงศ์ชิง ได้ทรงย้ายไปประทับที่ตำหนักหยังซิน ตำหนักเฉียนชิงจึงมีบทบาทในฐานะที่เป็นตำหนักสำหรับว่าราชการและเป็นที่จัดเลี้ยงแทน เหนือตำหนักเฉียนชิงขึ้นไปเป็นตำหนักเจียวไท่ สร้างในสมัยหมิง มีลักษณะเป็นทรงเหลี่ยม เนื้อที่ไม่ใหญ่มากนัก ใช้เป็นสถานที่เข้าเฝ้าพระมเหสี ในการถวายพระพรในพิธีการต่างๆ ทั้งยังเป็นที่เก็บรักษาตราลัญจกรซึ่งใช้ประทับลงหนังสือราชการของจักรพรรดิ ส่วนตำหนักคุนหนิง เป็นที่ประทับพักผ่อนของพระมเหสีในสมัยหมิง ต่อมาในสมัยชิงได้ใช้เป็นที่บูชาเทพเจ้า


ด้านเหนือของตำหนักคุนหนิง เป็นที่ตั้งของอุทยานหลวง สร้างในรัชสมัยหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิง ในเวลานั้นเรียกเพียง ‘สวนหลังวัง’ เป็นการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างความมีชีวิตชีวาตามแบบฉบับสวนสามัญชน แต่กว้างขวางโอ่อ่าตามแบบฉบับอุทยานในราชสำนัก มีความยาว 130 กว่าเมตร กว้าง 90 เมตร ภายในสวนประกอบด้วยหอน้อยใหญ่กว่า 20 หอ และสิ่งปลูกสร้างต่างๆที่จัดตั้งหันหน้าเข้าหากันเป็นแนว ตำหนักที่สำคัญมากอีกตำหนักหนึ่งของพระราชวังต้องห้าม เพราะเป็นห้องบรรทมของจักรพรรดิหย่งเจิ้งและจักรพรรดิองค์ต่อๆมาในราชวงศ์ชิง ตั้งอยู่เป็นเอกเทศจากตำหนักอื่นๆ ทางด้านใต้ของทางเดินด้านตะวันตกภายในพระราชวัง นั่นคือ ตำหนักหยังซิน

ตำหนักหยังซิน สร้างขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิเจียจิ้งแห่งราชวงศ์หมิง(ค.ศ.1522-1566) มีลักษณะเป็นรูปตัวไอ(I) โดยส่วนหน้ากับส่วนหลังเชื่อมถึงกัน ส่วนหน้าเป็นที่ทรงงาน ส่วนหลังเป็นที่บรรทม มีระเบียงล้อมรอบในปีที่จักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิงเสด็จสวรรคต พระบรมศพของพระองค์ได้ถูกตั้งไว้ที่ตำหนักหยังซิน จักรพรรดิองค์ต่อมาคือ จักรพรรดิหย่งเจิ้งพระราชโอรสได้ทรงไว้ทุกข์ให้พระราชบิดาที่นี่ หลังเสร็จสิ้นการไว้ทุกข์ ตำหนักแห่งนี้ก็กลายเป็นห้องบรรทมและห้องทรงงานของพระองค์ในเวลาต่อมา อีกประการหนึ่ง ที่ตั้งของตำหนักหยังซินนั้นใกล้กับกองกำลังทหารมาก จึงเป็นการสะดวกหากพระองค์ต้องการปรึกษาข้อราชการกับเหล่าแม่ทัพนายกอง ตำหนักแห่งนี้ยังเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ ในรัชสมัยจักรพรรดิถงจื้อและจักรพรรดิกวงสู่แห่งราชวงศ์ชิง พระนางซูสีไทเฮาและพระนางฉืออันโปรดให้เหล่าขุนนางเข้าเฝ้าและกราบทูลข้อราชการต่อพระนาง โดยมีม่านสีเหลืองเป็นฉากกั้นระหว่างกลางดังที่มีคำเรียกขานกันว่า 'ว่าราชการหลังม่าน' ที่พระที่นั่งใน

ตำหนักหยังซินด้วย นอกจากนี้ เมื่อปีค.ศ. 1842 และปี 1860 ราชสำนักชิงกับกองทัพต่างชาติได้มาลง นา มใน ‘สนธิสัญญานานกิง ’และ ‘สนธิสัญญาปักกิ่ง’ ณ ตำหนักแห่งนี้เช่นกัน
หลังจากผ่านกระแสธารแห่งประวัติศาสตร์มาหลายยุคหลายสมัย วันนี้พระราชวังต้องห้ามยังคงเด่นเป็นสง่าใจกลางนครปักกิ่ง และเป็นตัวแทนเล่าขานเหตุการณ์ในอดีตในฐานะพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่ งดงามและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
ข้อมูล มรดกโลกทางวัฒนธรรม ปีค.ศ.1987 ที่ตั้ง : ถนนฉางอัน ใจกลางกรุงปักกิ่ง สร้างในปี :ค.ศ.1406 -1420 อาณาเขต : เนื้อที่ทั้งสิ้น 720,000 ตารางเมตร

ข้อมูลท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ พระราชวังต้องห้าม (故宫) ตั้งอยู่ที่ถนนฉางอัน ใจกลางกรุงปักกิ่ง สามารถเดินทางโดยรถไฟใต้ดิน ลงที่สถานีจัตุรัสเทียนอันเหมินตะวันตกหรือตะวันออกก็ได้ หรือโดยสารรถประจำทางสาย 1, 4, 5, 10, 52, 57 ลงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน หรือรถไฟฟ้าสาย 101, 103, 109 หรือรถประจำทางปรับอากาศสาย 810, 812, 814, 846 - ราคาบัตรเข้าชม 40-60 หยวน (ตามฤดูท่องเที่ยว) มีบริการให้เช่าเทปบรรยายสถานที่จุดต่างๆในวัง และไกด์นำเที่ยว 3 ภาษา : อังกฤษ จีน และญี่ปุ่น หากต้องการเข้าชมพิพิธภัณฑ์สมบัติล้ำค่าและนาฬิกาโบราณ ซื้อตั๋วเข้าชมราคา 20 หยวนเพิ่ม ด้านในพิพิธภัณฑ์ฯ
- เวลาทำการ 16 ตุลาคม – 15 เมษายน เวลา 8 : 30 – 16 : 30 น. (15 : 30 น. ปิดจำหน่ายบัตร) 16 เมษายน – 15 ตุลาคม เวลา 8 :30 -17 : 00 น. (16 : 00 น.ปิดจำหน่ายบัตร)

ไม่มีความคิดเห็น: